fbpx

จุดเริ่มต้นของ Lambretta ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. … ? มาหาคำตอบกัน

ต้องบอกเลยครับว่าสงครามทำให้เกิดการสูญเสียในหลายๆ อย่าง ไม่เสียชีวิตก็เสียทรัพย์สิน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานท่อเหล็กของอิตาลีของ Ferdinando Innocenti เกิดความเสียหายอย่างมากในสงครามครั้งนั้น ทำให้เขาต้องตัดสินใจหาหนทางในการประกอบธุรกิจเพื่อความอยู่รอด (อ่านบทความเรื่อง ย้อนรอยประวัติ Lambretta)

ในปี ค.ศ. 1947 ปฐมบทของ Lambretta ก็เริ่มต้นขึ้น ทุกอย่างเหมือนจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่ทว่ากลับเกิดเรื่องราวมากมายกับโรงงาน Innocenti ทั้งการเงิน การเมือง รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารรุ่นก่อตั้ง สุดท้ายก็ยื้อโรงงานผลิตสกู๊ตเตอร์ได้ถึงปี 1971 เท่านั้น อายุรวมเพียง 24 ปีเท่านั้น

ปฐมบทในสยามประเทศเริ่มต้นขึ้น

ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ.1961) เรื่องราวการเดินทางครั้งแรกของ Lambretta ที่ขึ้นฝั่งมาจำหน่ายที่ประเทศไทย ภายใต้กลุ่มทุนอย่าง บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ แอนด์โก (หรือ BJC ในปัจจุบัน) ซึ่งเรื่องราวที่ส่งต่อถึงลูกหลานก็คือเรื่องราวของ Lambretta ในประเทศไทย พร้อมแล้วเรานั่งเสพจาก “เฮียเจียว” ผู้อยู่ในเหตุการณ์จริงมา…ตั้งแต่ต้น!!

สวัสดีครับ เฮียเจียว แนะนำตัวหน่อยครับ

ผม  “กันตพงศ์ ฤกษ์แสนสุข” หรือที่น้องๆ เขารู้จักกัน เฮียเจียว อายุตอนนี้ 75 ปีแล้ว ตอนนี้ประกอบธุรกิจของตัวเองกับครอบครัวแล้วก็ญาติ ปัจจุบันยังคงใช้ Lambretta ในชีวิตประจำวันอยู่ ซึ่งดีใจที่ยังมีโอกาสได้ใช้ ผมไม่เคยใช้รุ่นอื่นนอกจาก Lambretta

เริ่มรู้จัก Lambretta ตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

งั้นคงต้องย้อนกลับไปในตอนผมอายุ 15 ปี ตอนนั้นบ้านผมเปิดเป็นอู่ซ่อมจักรยานยนต์อยู่ก่อนแล้ว ด้วยความที่ครอบครัวเป็นคนจีน และเป็นลูกชาย พ่อเขาเลยอยากให้เราทำเป็น เผื่อวันข้างหน้าจะได้มีประโยชน์ ช่วงไหนว่างๆ ก็มาช่วยเป็นลูกมือ

เมื่อปี 2504-2505 บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์แอนด์โก (ซ.หลังสวน) หรือ BJC ในปัจจุบันนำรถจักรยานยต์ Lambretta เข้ามาทำการตลาด ซึ่งบริษัทนี้เขานำเข้าสินค้าจากอิตาลีอยู่แล้ว มีทั้งรถยนต์ ตู้เย็น สำหรับจักรยานยนต์ก็คือสินค้าตัวใหม่ หลังจากนั้นทางบริษัทเขาติดต่อมาที่ร้านอยากให้เราเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งการที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายได้นั้น อะไหล่ และการบริการจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับบริษัทแม่

ทางร้านเขาส่งผมไปเรียนรู้การซ่อมบำรุงซึ่งกินระยะเวลาไปเกือบ 2 เดือนกับช่างต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาฝึกอบรม เราก็ได้รู้จักการใช้เครื่องไม้เครื่องมือ การตั้งค่าต่างๆ ซึ่งบ้านเราตอนนั้นยังใช้ความคุ้นเคย กะด้วยสายตา ส่วนของเขานั้นเป็นเครื่องมือพิเศษทั้งหมด ยอมรับว่าได้จากเขามาก อีกทั้งยอดขายของ Lambretta ก็เริ่มที่จะติดตลาด”

เบอร์ลี่ฯ จำหน่ายรถรุ่นใดบ้าง?

รุ่นแรกที่จำหน่ายเป็น สูบตั้ง โมเดล Li ไม่มีฝากระโปรง ไฟหน้าอยู่ที่จมูก ซึ่งจำหน่ายออกไปมากเพราะหน่วยงานของราชการสั่งเข้าประจำการทีละ 100-200 คัน รุ่นต่อๆ มาก็มี 125 Li, 150 Li, TV175, TV200 แล้วก็ SX200…

รุ่นที่สั่งเข้ามา ซี.ซี. มันคร่อมกันอยู่ ส่วนใหญ่คนก็จะเล่น 150 ถ้าต้องการรถใช้งาน ประหยัด ถ้าสปอร์ตหน่อยก็เล่นรถ 200 ซึ่งรูปทรงมันสวย แรง แต่ก็แพงกว่าหน่อย สนนราคารถใหม่ออกห้างเท่าที่จำได้ 150 ราคา 9,800 บาท, 150 Special (บอร์ดี้เหมือน 175 แต่เครื่องเป็น 150) ราคา 10,500 บาท, ถ้า 200 (แต่จำนวนรถเข้ามาไม่มาก) ราคา 12,800 บา

จุดนี้เองหรือเปล่าครับที่ทำให้ได้เป็นเจ้าของกับเขาด้วย

ต้องบอกว่าได้ในนามตัวแทนศูนย์บริการ เสมือนว่ากึ่งๆ บังคับซื้อไปโดยปริยาย เงื่อนไขผ่อนถูกมาก ไม่มีเงินดาวน์ ผมเลยซื้อมาคันหนึ่ง เป็น X200 Special ผมเองเป็นคนชอบเที่ยวระยะยาวๆ ผมว่า X200 มันได้เปรียบกว่าด้วยเรื่องกำลังเครื่องยนต์ แต่ถ้าในเมืองก็คงสู้พวก 150 ไม่ได้ การดูแลรักษาก็มากกว่า จุกจิกกว่า แต่ด้วยความที่ผมเป็นช่างก็เลยตัดสินใจเป็นเจ้าของคันนี้

ตอนนั้นจุดเด่นของ Lambretta คือระบบเบรกที่เป็น ดิสก์เบรกถูกใส่มาในรุ่นนี้ (175/200) สำหรับการเที่ยวในยุคนั้น มันเสมือนเป็นการโฆษณาให้บริษัทด้วย เพราะการเดินทางแต่ละครั้งทาง “เบอร์ลี่ฯ” ก็ให้การสนับสนุนเป็นค่าเดินทาง ส่วนน้ำมันก็มีสปอนเซอร์เข้ามาร่วมคือ “เชลล์” ที่สนับสนุนน้ำมันและ 2T

ความสำเร็จในครั้งนั้นยาวนานแค่ไหนครับ

น่าจะสักเกือบๆ 20 ปี ส่วนหนึ่งนั้นเพราะรถญี่ปุ่นเริ่มที่จะเข้ามาตีตลาด เรื่องรูปทรงมันก็ทันสมัยกว่า อัตราเร่งก็ดีกว่า คล่องตัวกว่า เรียกว่าดีในทางบวกกว่าเยอะอย่างที่บอก แลมฯ มันจุกจิกกว่า

การดูแลรักษามากกว่าอะไหล่ในเครื่องยนต์ถ้าถอดมานับกันจริงๆ นี่เป็น 1,000 ชิ้น จุดยึดต่างๆ ก็เป็นน็อตหมด…เวลาเสียทีก็ต้องใช้เวลาซ่อมมากกว่ายี่ห้ออื่นๆ สำหรับคนที่เขาใช้งานประจำ เขาเองก็ไม่มีเวลามากพอมารอรถซ่อม บ่อยๆ เข้าก็กลับเป็นความเบื่อหน่าย ท้ายสุดถ้ามีโอกาสก็เปลี่ยนไปเล่นแบรนด์อื่น ไม่ก็รถญี่ปุ่นไปเลย…ซึ่งก็ส่งผลถึงดีลเลอร์อย่าง “เบอร์ลี่ฯ” ที่ก็ต้องถอนสมอในที่สุด ซึ่งเรื่องอะไหล่ที่มันหายากอยู่แล้ว ก็ยิ่งลำบากมากขึ้น[vc_column_text]

แต่ก็มีดีลเลอร์เจ้าใหม่ที่เข้ามาอาสากู้ชื่อ?

เป็น บริษัท เอฟ.อี. ซิลลิค (กรุงเทพฯ) คือตัวแทนจำหน่ายรายถัดมา แต่โมเดลที่นำเข้ามาขายไม่หลากหลายมากนัก เท่าที่ผมจำได้ก็มีเฉพาะ DL150/200 ซี.ซี. คร่อมอย่าง 125/175 ไม่มีจำหน่าย…ซึ่งบอร์ดี้ 150/200 นั้น แทบแยกกันไม่ออก แต่จะต่างกันที่โช้คหน้าที่ 200 มีโช้คซับ และเบรกเป็นดิสก์เบรก ส่วน 150 ไม่มีโช้คซับและเป็นดรัมเบรก…แต่…การมีตัวแทนจำหน่ายครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งสุดท้าย และระยะเวลาเท่าที่จำได้ก็ไม่นานนัก

หลังจากนั้นเมื่อประมาณปี 2018 แบรนด์ Lambretta เหมือนจะตายไปแล้ว แต่ก็ถูกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการปรับแต่งในหลายๆ ส่วนทั้งดีไซน์และเครื่องยนต์ เป็นแบบ ออโต้แทนเกียร์มือ

ยังดีที่พอได้อานิสงส์ “พิมพ์เขียว” จากรุ่นดั้งเดิม เลยเรียกศรัทธาจากสาวก Lambretta ผู้ภักดีได้บ้าง สำหรับประเทศไทยเปิดตัวอีกครั้งในงาน Motor Expo 2018 ภายใต้บริษัท ไดนามิค มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ Lambretta AllRide ทั้ง 3 สาขา รามคำแหง แจ้งวัฒนะ และวัชรพล

ขอบคุณบทความและรูป motorcycmagazine.grandprix.co.th

Related posts

คุยกับเราผ่านทาง SOCIAL MEDIA

Follow Us

สนใจออกรถ Lambretta กับเรา